กระทรวง พม. ผนึกความร่วมมือ 40 หน่วยงาน ลงนาม MOU “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการกีฬา”

18 กันยายน 2567, กรุงเทพมหานครนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการกีฬา” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ร่วมลงนาม MOU และประกาศเจตนารมณ์ฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายและสมาคมกีฬานําร่อง 20 สมาคม รวมกว่า 40 หน่วยงาน เป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในวงการกีฬา โดยเฉพาะการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศที่มีต่อนักกีฬาสตรี เด็ก เยาวชน คนพิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ณ ห้อง Richmond Grand Ballroom 1 ชั้น 6 โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเข้าเป็นภาคี ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women: CEDAW) รวมถึงกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 หรือ SDG5 การบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง โดยมีข้อท้าทายที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนเจตคติของผู้คนอันเป็นผลจากบรรทัดฐานด้านเพศภาวะของสังคมที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงต่อสตรี ที่รากเหง้าของปัญหาเกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เหยื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิงและเด็กหญิง การปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคมจึงเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

 

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. มีนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ที่ให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทยสู่ความมั่นคงของมนุษย์อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบ ผ่านการผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองคนทุกเพศ ทุกวัย ควบคู่ไปกับสร้างการรับรู้และการเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม ตลอดจนเสริมพลังให้ผู้เสียหายจากความรุนแรง โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างสังคมที่เคารพในสิทธิและความแตกต่างหลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างความเสมอภาคอย่างแท้จริง

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. กล่าวว่า ปัญหาการถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เป็นปัญหาความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่คุกคามความปลอดภัยต่อสังคมไทย สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งในครอบครัว ในที่ทำงาน ในที่สาธารณะ แม้แต่ในวงการกีฬาก็ประสบกับปัญหานี้ แต่เป็นภัยเงียบที่ผู้ถูกกระทำไม่ค่อยออกมาแสดงตัวหรือปรากฎเป็นข่าว เนื่องจากความกังวลใจของผู้ถูกกระทำที่กลัวว่าจะได้รับผลกระทบในอาชีพการงานของตน ซึ่งในความเป็นจริงคงมีตัวเลขของผู้ถูกกระทำไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะนักกีฬาผู้ถูกกระทำที่เป็นสตรี เด็ก เยาวชน คนพิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทุกภาคส่วนจึงควรร่วมมือกันผลักดันให้ปัญหานี้เป็นวาระสำคัญทางสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศ คุ้มครองและป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กำหนดนโยบายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ รวมถึงยุติปัญหาความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายกว่า 40 หน่วยงาน จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการกีฬา” และร่วมประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว การวางแนวปฏิบัติการประสานส่งต่อและการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิให้แก่ผู้ถูกกระทำหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศให้แก่บุคลากรในวงการกีฬา และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในวงกว้างเพื่อสร้างความตระหนักรู้และทัศนคติที่ถูกต้องให้แก่สังคมต่อไป

นอกจาก พิธีลงนาม MOU และประกาศเจตนารมณ์ เรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการกีฬา” ภายในงานยังได้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ Breaking the Silence : ยุติการล่วงละเมิดทางเพศในการกีฬา” โดย ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน รองประธานกรรมการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, นางสุดา สุหลง รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, นายสุรศักดิ์ เกิดจันทึก รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย, นางสาวศิริพร ไชยสุต นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมด้วยนักกีฬา นำโดย นายภราดร ศรีชาพันธุ์ นักกีฬาเทนนิสชายมือหนึ่งเอเชีย และอดีตนักเทนนิสหมายเลข 9 ของโลก, นายชัชชัย เช หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย, นางสาวสายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบหญิง และ คุณนุศรา ต้อมคำ อดีตวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย พร้อมด้วยการแสดงที่สร้างแรงบันดาลใจ ความหวังและรอยยิ้ม จากเยาวชนทีมดาวน์ซินโดรม Bangkok Trisomy 21 ในชื่อชุดการแสดง Inspiration show BY DBK-T21 team

ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย กล่าวในช่วงหนึ่งของการเสวนาว่า การตัดสินใจเข้าร่วม MOU เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศของคนในวงการกีฬาทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดหวังว่าการลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการ Kick-off ความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในวงการกีฬา นำปัญหาที่ถูกซุกซ่อนอยู่ ให้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระสำคัญทางสังคม และตนเองในฐานะตัวแทนสร้างการเปลี่ยนแปลง มองเห็นศักยภาพของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการกีฬาและด้านสิทธิมนุษยชนที่มารวมตัวกันในวันนี้ ว่าจะเป็นกำลังสำคัญร่วมกันผลักดันมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศ ให้เกิดขึ้นในวงการกีฬาบ้านเรา อีกทั้งภารกิจนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของประเด็น Safe Sport ที่ Olympic สากลกำหนดเป็นข้อปฏิบัติสำคัญของทุกองค์กรที่เกี่ยวกับกีฬาทั่วโลกที่ต้องมีการดูแลนักกีฬาในด้านของ Safe Sport ดังนั้น พวกเราในฐานะคนจากการกีฬาแห่งประเทศไทยจึงต้องผลักดัน Safe Sport ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

“การร่วมมือในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในวงการกีฬา เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา การดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในด้านนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของนักกีฬาให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศการทำงานและแข่งขันที่เคารพในสิทธิมนุษยชน การสร้างความเชื่อมั่นในความเท่าเทียมและความปลอดภัยจะเป็นรากฐานสำคัญของวงการกีฬาที่มีคุณภาพและยั่งยืนต่อไป” ดร.สุวรรณา กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.m-society.go.th เพจเฟซบุ๊ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ https://www.facebook.com/msdhs.go.th และเพจเฟซบุ๊กกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว https://www.facebook.com/sorkor