องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเผยรายชื่อบริษัทท่องเที่ยวทั่วโลก
ที่ยังแสวงประโยชน์จากสัตว์ป่า

         องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก World Animal Protection เผยรายงานล่าสุด พบแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง GetYourGuide Klook, Traveloka, Trip.com และ TUI Musement ยังคงเปิดขายกิจกรรมท่องเที่ยวที่แสวงประโยชน์จากสัตว์ป่าอยู่โดยเรียกร้องให้นักท่องเที่ยวตรวจสอบข้อมูลก่อนจองทริปท่องเที่ยว เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนกิจกรรมที่ทำร้ายสัตว์

รายงานล่าสุด “Real Responsible Traveller Guide” องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเปิดเผยข้อมูลว่า แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลกได้แก่ GetYourGuide, Klook, Traveloka, Trip.com และ TUI Musement ยังคงเปิดขายกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสัตว์ป่า ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความโหดร้ายทารุณต่อสัตว์ป่าแฝงอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เช่น การขี่ช้าง โชว์ช้าง อาบน้ำช้าง เซลฟีกับเสือโคร่ง การว่ายน้ำกับโลมา ฯลฯ

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกระบุว่าในทุก ๆ ปี สัตว์หลายพันตัวต้องถูกจับออกจากป่าหรือเกิดมาจากการเพาะพันธุ์
ในกรงขัง ผ่านการถูกพรากจากอกแม่ตั้งแต่ยังเล็กและต้องถูกทำลายสัญชาตญาณสัตว์ป่าด้วยการฝึกที่โหดร้ายทารุณ
สร้างบาดแผลทั้งร่างกายและจิตใจ จากนั้นต้องถูกบังคับให้เข้าสู่ “วิถีการแสดงเพื่อความบันเทิง” ที่ผิดธรรมชาติและสร้างความเครียดอย่างรุนแรง แม้บางกลุ่มจะอ้างว่าสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้มีประโยชน์ด้านการศึกษาหรือการอนุรักษ์ก็ตาม สถานการณ์เหล่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากมักรู้สึกไม่สบายใจ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีมนุษยธรรม

มอร์วา จอร์จ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์เพื่อสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “แทนที่แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง GetYourGuide, Klook, Traveloka, Trip.com และ TUI Musement จะช่วยยุติการกระทำที่โหดร้ายต่อสัตว์ป่า แต่กลับให้การสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้ พวกเขายังก้าวไม่ทันโลกในการร่วมปกป้องสัตว์ป่า”

“เราขอเรียกร้องให้นักเดินทางที่มีความรับผิดชอบเข้าร่วมกับเราเพื่อเรียกร้องให้บริษัทท่องเที่ยวล้าหลังเหล่านี้เร่งทำในสิ่งที่ถูกต้องต่อสัตว์ป่า”

         มอร์วา กล่าวเสริมว่า: “สัตว์ไม่ใช่สินค้าที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์และขายเพื่อความบันเทิง บริษัทที่ยังคงปฏิบัติต่อพวกเขาเช่นนี้จะต้องถูกเรียกตัวออกมา คุณจองวันหยุดกับใคร นักเดินทางที่มีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงมีพลังในการดำเนินการและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงให้กับสัตว์ป่า”

การเดินทางท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบเป็นทางเลือกใหม่ที่องค์กรฯ พยายามหลักดัน ซึ่งหมายถึงการไม่ร่วมกิจกรรมที่สร้างความบันเทิงจากสัตว์ป่าและไม่จองทริปท่องเที่ยวกับบริษัทท่องเที่ยวซึ่งอาจอ้างว่าให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืน แต่ความจริงคือการร่วมค้ากำไรจากการแสวงหาประโยชน์จากสัตว์ป่าในทุก ๆ ขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ โดยนักท่องเที่ยวควรหันมาเที่ยวชมและศึกษาสัตว์ป่าตามถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติหรือสถานที่ที่มีสวัสดิภาพสูงอย่างแท้จริงแทน

นายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “นอกจากการเรียกร้องให้ บริษัทและแอปพลิเคชันท่องเที่ยวเร่งยุติการนำเสนอกิจกรรมการท่องเที่ยวที่แสดงหาประโยชน์จากสัตว์ป่า องค์กรฯ ได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องในการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยวว่าการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขี่ช้าง ดูโชว์ช้าง โชว์เสือ ถือว่าเป็นการสนับสนุนความโหดร้ายทารุณต่อสัตว์โดยที่นักท่องเที่ยวอาจจะไม่รู้ตัว นอกจากนี้ เรายังพยายามเสนอกิจกรรมการท่องเที่ยวทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่าอย่างแท้จริง เช่น การดูช้างตามถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติต่าง ๆ หรือท่องเที่ยวเฉพาะ ‘ปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง’ เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศไทย”

รายงาน Real Responsible Traveller Guide เกิดจากการศึกษาและติดตามข้อมูลต่อเนื่องจากรายงาน Tracking the Travel Industry ที่จัดทำโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกร่วมกับมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์  ในปีพ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ผ่านการศึกษาข้อมูลโดยอิสระในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพันธสัญญาสาธารณะที่บริษัทท่องเที่ยวได้ทำและไม่ได้ทำเพื่อเป็นการประเมินแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก Airbnb, AttractionTickets.com, Booking.com, DER Touristik, Expedia, Flight Centre, GetYourGuide, Klook, The Travel Corporation, TripAdvisorViator, Trip.com และ TUI Musement

แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลกได้รับการประเมินด้วยการให้คะแนนในสี่ด้าน:

  1. ความมุ่งมั่น: นโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่สาธารณชนเข้าถึงได้ที่มีอยู่และคุณภาพของนโยบายดังกล่าว รวมถึงความสามารถในการนำไปประยุกต์ใช้กับแบรนด์ต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้บริษัทได้
  2. เป้าหมายและผลลัพธ์: การมีเป้าหมายที่กำหนดกรอบเวลาซึ่งได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนและขอบเขตของเป้าหมายดังกล่าว รวมถึงการจัดทำรายงานแสดงความคืบหน้าเพื่อให้บรรลุความมุ่งมั่นด้านสวัสดิภาพสัตว์
  3. การเปลี่ยนอุปทานของอุตสาหกรรม: การมีส่วนร่วมและระดับการมีส่วนร่วมของทั้งซัพพลายเออร์และอุตสาหกรรมทั้งหมด เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนไปสู่การเป็นมิตรกับสัตว์ป่า
  4. การเปลี่ยนอุปสงค์ของผู้บริโภค: เนื้อหาและคุณภาพของเนื้อหาเชิงความรู้ด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่มีอยู่ รวมถึงเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมผู้บริโภคเพื่อเลือกการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่า

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ตรวจสอบแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลกเพื่อตรวจสอบว่าได้มีการ  นำเสนอ “สถานที่ท่องเที่ยวสัตว์ป่า” เหล่านี้หรือไม่:

  • สถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับช้างที่มีการนำเสนอกิจกรรม เช่น การขี่ช้าง โชว์ช้าง อาบน้ำช้าง เป็นต้น
  • สถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับลิงที่มีการนำเสนอกิจกรรม เช่น ลูบคลำ จับตัว การให้อาหารด้วยมือ เป็นต้น
  • สถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับเสือที่มีมีการนำเสนอกิจกรรม เช่น เซลฟี่ เดินเล่น โชว์ การลูบคลำหรือจับตัว เป็นต้น
  • สถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับโลมาที่มีการนำเสนอกิจกรรม เช่น โชว์โลมา การว่ายน้ำกับโลมา เป็นต้น
  • สถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับสัตว์ป่าอื่น ๆ ที่มีการนำเสนอกิจกรรม เช่น การแสดง เครื่องเล่น เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่ามีบริษัทท่องเที่ยวบางแห่งได้มีการปรับปรุงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสัตว์ป่าให้ดีขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ Airbnb, Booking และ Travel Corporation

เครดิตภาพถ่าย : World Animal Protection / Nick Axelrod