หลักสูตรสถิติประยุกต์ NIDA เผยผลการวิจัย 3 ปัจจัยสำคัญ “สุขภาพใจ สุขภาพกาย และทรัพย์สิน”
ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทย

เมื่อคนเข้าสู่วัยสูงอายุ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ และสังคมส่งผลต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างมาก การลดลงของความสามารถทางร่างกาย การเจ็บป่วยเรื้อรัง การเสื่อมถอยทางความจำและการรับรู้ รวมถึงการสูญเสียบทบาททางสังคมและความโดดเดี่ยวสามารถทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตลดลงได้ การมีเครือข่ายสนับสนุนที่ดีจากครอบครัวและเพื่อนฝูง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ชอบ การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสม รวมถึงการมีการจัดการทางการเงินที่ดีจะช่วยเพิ่มระดับความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุได้ จากข้อมูลสถิติจำนวนประชากรไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนถึง 13,358,751 คน คิดเป็นร้อยละ 19.6 ของประชากรทั้งหมด เป็นผู้สูงอายุชายประมาณ 5.97 ล้านคน และหญิงประมาณ 7.38 ล้านคน (การสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย, สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ถือได้ว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มมากขึ้น

Happy senior couple running along ocean coast on summer day. Medium shot of smiling Caucasian man and woman taking care of health, having cardio training. Family, sport concept

ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยจำนวนมากมุ่งเน้นค้นหาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และผลการศึกษาในประเทศต่างๆ ทำให้เห็นได้ว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุนั้นมีหลายแง่มุมและมีความสัมพันธ์กัน ตัวอย่างการวิจัยผู้สูงอายุในฟินแลนด์ โปแลนด์ และสเปน พบความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมกับความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต ส่วนผู้สูงวัยชาวจีนที่มีสถานะทางการเงินดีมีแนวโน้มที่จะมีความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตในระดับที่สูงเช่นกัน นอกจากนั้น ยังพบว่าสุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นมิติสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอีกด้วย สำหรับในอินเดียพบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตโดยรวม เช่นเดียวกันกับในเกาหลีใต้ ผู้สูงอายุที่มีสถานะทางการเงินดี มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายต่างๆ เช่น การออกกำลัง การทำงานบ้าน และผู้สูงอายุเกาหลีที่พบปะพูดคุยหรือมีความสัมพันธ์ทางสังคม มักจะมีความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตที่สูงตามไปด้วย ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุนั้นเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจศึกษาและความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเกิดขึ้นได้ในหลายแง่มุม


ในประเทศไทย การศึกษาเรื่อง “Factors Influencing Elderly Life Satisfaction in Thailand: A Comprehensive Study on Socio-economic, Mental, and Physical Health, and Social Activity” โดย ผศ.ดร.ธิฏิรัตน์ พิมลศรี รศ.ดร.พาชิตชนัต ศิริพานิช และ วศิน แก้วชาญค้า จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)) ใช้ข้อมูลจากการสำรวจรอบที่ 4 ที่ดำเนินการในปี 2565-2566 ของโครงการสำรวจด้านสุขภาพ การสูงอายุ และการเกษียณในประเทศไทย (Health, Aging, and Retirement in Thailand: HART) ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) (https://hart.nida.ac.th/) ที่มีสำรวจข้อมูลจากผู้สูงอายุชาวไทยอายุ 45 ปีขึ้นไป จาก 5 ภูมิภาค ทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพฯ สำหรับงานวิจัยนี้ใช้ขนาดตัวอย่างจำนวน 646 คน (ศึกษาเฉพาะผู้สูงอายุที่ยังมีรายได้) และใช้เทคนิคทางสถิติตัวแบบสมการโครงสร้างในการวิเคราะห์ข้อมูล

old senior asian friends retired people hapiness positive laugh smile conversation together at living room at nursing home Seniors participating in Group Activities in Adult Daycare Center

การศึกษานี้เปิดเผยให้เห็นข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจว่าสิ่งที่สำคัญต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย คือ “สุขภาพจิต” และ “ทรัพย์สินที่ถือครอง” ซึ่งส่งผลกระทบทางตรงต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ “รายได้” “สุขภาพกาย” และ “การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม” ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาเจาะลึกในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือในวัยเกษียณนั่นเอง เราได้ข้อค้นพบว่า หากผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตดีจะส่งผลกระทบทางตรงต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตที่ดีตามไปด้วย สำหรับสุขภาพกายและทรัพย์สินที่ถือครองจะส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านสุขภาพจิตเท่านั้น
ในขณะที่สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-59 ปี ประเด็นสุขภาพจิตและทรัพย์สินที่ถือครองยังถือเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต รวมทั้งกิจกรรมทางสังคมและสุขภาพกายส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต

Elderly couples Cooking Healthy food together

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ (อายุ 45-59 ปี) ความมั่นคงทางการเงินมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มระดับความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี และในช่วงแรกของการเกษียณอายุ (อายุ 60-69 ปี) สถานะทางการเงินและสุขภาพร่างกายยังคงมีผลทางอ้อมกับความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต แต่ท้ายที่สุดท้ายแล้วสำหรับผู้สูงอายุที่อายุ 70 ปีขึ้นไป “ทรัพย์สินภายนอก และสุขภาพกาย ดูเหมือนไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับความสุขภายในหรือความสุขทางจิตใจ” นั่นเอง และนี่คือสิ่งนี้สะท้อนถึงความเป็นจริงของชีวิต
อย่างไรก็ตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุก็ต้องการการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกันดังนั้นรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับปรุงบริการต่างๆ ให้ตรงตามความต้องการเฉพาะของผู้สูงอายุ ผลการศึกษานี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างรอบคอบ และการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับระบบสนับสนุนเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง
กองสถิติและสังคม. (2564). การสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย. สำนักงานสถิติแห่งชาติ.
Phimolsri, T., Siripanich, P., Kaewchankha, W. (2024). Factors Influencing Elderly Life Satisfaction in Thailand: A Comprehensive Study on Socio-economic, Mental, and Physical Health, and Social Activity. Proceedings of The 10th Asian Conference on Aging & Gerontology (Agen2024), March 25-29, 2024. Tokyo, Japan.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิฏิรัตน์ พิมลศรี ผู้อำนวยการหลักสูตรสถิติประยุกต์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)