เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ร่วมกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดกิจกรรมเปิดนิทรรศการ (Open House) และนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง ความหลากหลายทางพหุนิยมของกิจการโทรทัศน์ หรือ Diversity and Pluralism ณ อาคารมิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านกิจการโทรทัศน์และ ผศ.ดร.ประวิทย์ ชุมชู หัวหน้าโครงการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกันตอบข้อซักถามเกี่ยวกับสถานการณ์กิจการโทรทัศน์ไทยในปัจจุบัน ภายใต้การกำกับดูแลของกสทช. ซึ่งมีการสะท้อนผ่านข้อมูลที่ได้รับจากการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ภาคต่างๆทั่วประเทศ

ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กล่าวถึงงานวิจัยเกี่ยวกับกิจการโทรทัศน์ไทยในปี 2565 ที่ผ่านมา ว่าได้ทำการศึกษาถึงความเหมาะสมด้านการออกอากาศ ระบบ 4K และ8K รวมทั้งติดตามการให้ทุนสนับสนุนของกองทุน กทปส ในด้านกิจการโทรทัศน์  สำหรับในปี 2566 นี้ ได้ศึกษาในเรื่อง Diversity และ Pluralism หรือความหลากหลายและพหุนิยมในกิจการโทรทัศน์ไทย  ซึ่งได้ทำการศึกษาติดตามตามนโยบายของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์

      ผศ.ดร.ประวิทย์ ชุมชู  หัวหน้าโครงการวิจัยจากจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้ศึกษาภาพรวมกิจการโทรทัศน์ของประเทศไทยในปัจจุบันซึ่งมีการออกอากาศอย่างหลากหลายมาก โดยเน้นตั้งแต่เรื่องโครงสร้างการส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลภาคปกติ ทั่วประเทศซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ กสทช. โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและโทรทัศน์ชนิดเคเบิ้ลที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งIPTV  จำนวน 4 รายที่ให้บริการในปัจจุบัน ซึ่งถ้ามองตามโครงสร้างแล้วก็จะครอบคลุมการออกอากาศได้ทั้งหมด  แต่ในด้านเนื้อหาที่หลากหลาย ยังขาดรายการสำหรับเด็กและเยาวชน จากการทำโฟกัสกรุ๊ปกับกลุ่มตัวอย่างพบว่า เยาวชนทั่วประเทศยังอยากให้มีรายการสำหรับเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากข้อค้นพบกลุ่มตัวอย่างต้องการ สะท้อนความต้องการไปยัง กสทช.

ในงาน นอกจากชุดการแสดงพิเศษจากน้อง ๆ สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย แล้วยังมีการเสวนาพิเศษในหัวข้อ“Diversity TV ไทย” ในด้านความหลากหลายทางพหุนิยมของกิจการโทรทัศน์ หรือ Diversity and Pluralism เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนากิจการสื่อ และกิจการโทรทัศน์ที่เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้มิติด้านการกำกับดูแล และการส่งเสริมความหลากหลายด้านกิจการโทรทัศน์

โดยมีผู้คนหลากหลายในอาชีพและช่วงวัย เข้าร่วมงานประมาณ 150 คน  โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการแลกเปลี่ยนความเห็นมาก ประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับชม โทรทัศน์ภาคพื้นดิน ไม่ได้เป็นทางเลือกเดียว เนื้อหาท้องถิ่นที่หายไป บริการเพื่อผู้พิการไม่ตอบโจทย์ทั้งผู้รับสารและผู้ประกอบการ รายการเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ปัญหาการถ่ายทอดสดกีฬา จากกฎ Must have, Must carry ที่เหมือนจะจบ และ OTT ทีวีหลอมรวมที่ต้องรอกฎหมาย