“ทองถนิม” สร้างปรากฏการณ์ทอล์คออฟเดอะทาวน์อีกครั้ง
รังสรรค์มงกุฎทองคำสุดเลอค่า พร้อมชุดเครื่องประดับสุดอลังการ มูลค่าร่วม 20 ล้าน
นางนพมาศ โบว์-เมลดา สวย สง่า สมการรอคอย
มาเต็มจัดหนักทุกปีสำหรับแบรนด์เครื่องประดับทองโบราณ “ทองถนิม” ที่เคยสร้างความฮือฮาในงานลอยกระทง
ปี 2563 จนเกิดคำฮิตติดปากที่มาของคำว่า “เครื่องประดับเบลล่า” และเมื่อเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2565 ที่จัดโดยไอคอนสยาม (วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565) ก็กลับมาสร้างปรากฏการณ์สะเทือนวงการอีกครั้งเมื่อแบรนด์ “ทองถนิม”
ได้รังสรรค์เครื่องประดับอันวิจิตร ชื่อชุดเครื่องประดับ “โรหิณีจันทราพิมพาภรณ์” โดยมีไฮไลท์คือ มงกุฎทองคำฝังเพชร ที่ถูกถ่ายทอดความงดงามผ่านนางนพมาศ “โบว์ เมลดา สุศรี” นางเอกสุดฮอตแห่งยุคเป็นผู้สวมใส่ โดยมีคอนเซ็ปต์การออกแบบนำตำนานเทพพระจันทร์รักนางโรหิณีมาเนรมิตสู่เครื่องประดับอันทรงคุณค่า กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ในชั่วข้ามคืน
ไฮไลท์ของเครื่องประดับชุดนี้ คือ “ศิราภรณ์แห่งจันทรา” หรือ “มงกุฎทองคำฝังเพชร” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากมงกุฎของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งกว่าจะเป็นเครื่องประดับทองคำอันเลอค่าบนตัวสาวโบว์-เมลดา นี้ ได้ผ่านการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด โดยกระบวนการผลิตต่างๆไม่ใช่เรื่องง่าย ใช้ช่างฝีมือทั้งหมดมากกว่า 10 คน และทุกขั้นตอนผ่านการดูแลอย่างใกล้ชิดจาก
“สิทธิศักดิ์ คูหาวิไล” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ทองถนิมโดยคุณสิทธิศักดิ์ คูหาวิไล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ทองถนิม ได้เล่าถึงแนวคิดในการออกแบบเครื่องประดับชุดนี้ว่า แนวคิดในการทำมงกุฎและเครื่องประดับทองคำนี้ เพื่อสื่อถึงตำนานรักของเทพพระจันทร์ที่มีต่อนางโรหิณี ในทุกคืนวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี เทพพระจันทร์จะมารอพบกับนางโรหิณีที่ตรงกลางของฟากฟ้า ดังคำกล่าวที่นางโรหิณีกล่าวแด่เทพพระจันทร์ว่า “เพื่อพิสูจน์รักที่ท่านมีต่อเรา โปรดจงมาหาเราในทุกคืนวันเพ็ญ ของเดือน ๑๒ เราจะรอพบท่านอยู่ที่ตรงกลางของฟากฟ้า” ในคืนนั้นพระจันทร์จะสุกสว่าง และกลมโตเป็นพิเศษ เพราะดีใจที่จะได้พบกับนางอันเป็นที่รักยิ่ง ตำราการพบคู่ของคนโบราณ จึงถือว่าวันนี้เป็นวันมงคลในการหมั้นหรือนัดดูตัวชายหญิง
เครื่องประดับเปรียบดั่งเทพพระจันทร์ นางนพมาศเปรียบดั่งนางโรหิณี อัญมณีที่ใช้บนเครื่องประดับคือมูนสโตนอันเป็นหินแห่งดวงจันทร์ สีบนมูนสโตนมีสีเหลือบน้ำเงินรุ้ง อันเป็นสีของโรหิณีดาวฤกษ์ ลวดลายดอกบัวบนเครื่องประดับคืออาวุธของเทพพระจันทร์ ทั้งสองผสานดั่งเทพพระจันทร์กำลังโอบกอดและดูแลนางโรหิณีในคืนวันที่พระจันทร์สุกสกาว “วันลอยกระทง”
การประดิษฐ์มงกุฎใช้เทคนิคที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นศิลปะการทำทองชั้นสูง ใช้บุคลากรประกอบด้วย ช่างออกแบบ ช่างดัดลวด ช่างสลักดุน ช่างเชื่อมประกอบ ช่างฝังอัญมณี มากกว่า 10 ชีวิต ทองคำที่ใช้ทั้งหมดหนักหลายกิโล และเพชรหนักหลายสิบกะรัต นับเป็นผลงานที่ทั้งเลอค่าและทรงคุณค่ามาก”
สำหรับเซตเครื่องประดับทองคำ “โรหิณีจันทราพิมพาภรณ์” จะถูกจัดแสดงที่ไอคอนสยาม
ตั้งแต่วันที่ 8 – 22 พฤศจิกายน 2565 จากนั้นจะถูกนำมาจัดแสดงต่อที่หอศิลป์ “สิปปาลัยทองถนิม”
——————————————————————